การขอปล่อยชั่วคราว
การขอปล่อยชั่วคราว คือ การขออนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาล ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลตามระยะเวลาที่กำหนด
“การปล่อยชั่วคราว” หรือ “การประกัน” คืออะไร
การปล่อยชั่วคราวหรือการประกัน คือ การยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยไม่ต้องมีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลกำหนด
“ผู้ประกัน” หมายถึงใคร
ผู้ประกันหรือนายประกัน หมายถึง บุคคลที่นำทรัพย์สินของตนซึ่งเรียกว่า หลักประกัน มาวางไว้ต่อศาล เพื่อเป็นประกันในการชำระหนี้หากมีกรณีผิดสัญญาประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย
การยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล
คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรืออัยการสูงสุด นำตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยมายื่นคำร้องหรือคำฟ้องต่อศาล และผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาล
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
- 1. ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย
- 2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ได้แก่ บิดา มารดา บุตร ภริยา ญาติ ผู้บังคับบัญชา บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส หรือบุคคลอื่นๆ ที่ประสงค์จะเข้ามาทำสัญญาประกันตัวผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย โดยได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย
ประเภทของการขอปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย
- 1. การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน : คือ การปล่อยชั่วคราวโดยต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะมาศาลตามกำหนดนัดหรือหมายเรียก แต่ไม่ต้องมีหลักประกัน
- 2. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน : คือ การปล่อยชั่วคราวโดยต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะมาศาลตามกำหนดนัดหรือหมายเรียก และต้องวางหลักประกันต่อศาล ศาลจะกำหนดวงเงินตามสัญญาประกัน หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัด ผู้ประกันจะต้องถูกปรับตามสัญญาประกัน หากไม่ชำระค่าปรับ ศาลมีอำนาจบังคับคดีเอาจากหลักประกันนั้น และทรัพย์สินอื่นของผู้ประกันได้
- 3. การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน และหลักประกัน : คือ การปล่อยชั่วคราวโดยต้องทำสัญญาประกันต่อศาลว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะมาศาลตามกำหนดนัดหรือหมายเรียก และต้องวางหลักประกันต่อศาล ศาลจะกำหนดวงเงินตามสัญญาประกัน หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัด ผู้ประกันจะต้องถูกปรับตามสัญญาประกัน หากไม่ชำระค่าปรับ ศาลมีอำนาจบังคับคดีเอาจากหลักประกันนั้น และทรัพย์สินอื่นของผู้ประกันได้
หลักประกันสำหรับการยื่นขอปล่อยชั่วคราว
- 1. เงินสด
- 2. สมุดเงินฝากประจำธนาคาร หรือใบรับฝากเงินประจำของธนาคาร : พร้อมหนังสือรับรอง ยอดเงินคงเหลือ และรับรองว่าธนาคารจะไม่ยอมให้ถอนเงินจนกว่าจะได้รับคำสั่งจากศาล
- 3. หนังสือรับรองจากส่วนราชการ : ค้ำประกันตามระเบียบกระทรวงว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา
- 4. ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ : อาทิ โฉนดที่ดิน น.ส.3 น.ส.3ก ห้องชุด พร้อมหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินหรือห้องชุดที่ออกให้ไม่เกิน 1 เดือน แผนที่แสดงที่ตั้งที่ดิน ระวางที่ดินหรือแบบ รว.9, รว 25 และภาพถ่ายที่ดินหรือห้องชุด
- 5. ตำแหน่งบุคคลเป็นประกัน : ตำแหน่งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งผู้ประกอบวิชาชีพ โดยต้องแสดงหนังสือรับรองตำแหน่งและเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือนที่ออกให้ไม่เกิน 1 เดือน ใช้ประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือน ซึ่งผู้ประกันต้องมีประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยด้วย
เอกสารที่ใช้ในการขอปล่อยชั่วคราว (ต้องนำต้นฉบับมาให้ตรวจด้วย)
- 1. เอกสารที่เกี่ยวกับหลักประกัน
- 2. เอกสารของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย
-
- 2.1 บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้าน
- 2.2 หนังสือเดินทาง (ถ้ามี)
- 3. เอกสารของผู้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกัน
-
- 3.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ และทะเบียนบ้าน
- 3.2 เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
- 4. เอกสารของคู่สมรส
-
- 3.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ และทะเบียนบ้าน
- 3.2 เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล (ถ้ามี)
- 3.3 ใบสำคัญการสมรส ใบหย่า มรณบัตรคู่สมรส แล้วแต่กรณี
- 5. เอกสารแสดงความเป็นญาติ
-
- เอกสารที่แสดงความเป็นญาติระหว่างผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยกับประกัน และบัญชีเครือญาติ
ขั้นตอนในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
- 1. ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยแจ้งความประสงค์ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
- 2. ผู้ประกันเขียนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และสัญญาประกัน พร้อมแนบเอกสารประกอบ (ถ้ามี)
- 3. เจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบข้อมูลคดี เอกสารประกอบ และจัดทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอผู้พิพากษาประจำแผนกฯ พิจารณาสั่ง
- 4. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งคำสั่งผู้ประกันรับทราบ และผู้ประกันลงลายมือชื่อรับทราบ
- 5. เจ้าหน้าที่ศาลเก็บหลักประกัน พร้อมออกใบรับหลักประกันหรือใบรับเงิน
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอคืนหลักประกัน
- 1. กรณีเงินสด/เช็ค
-
- 1.1 แบบแจ้งความประสงค์ในการรับเงินด้วยวิธีการโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร
- 1.2 สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกัน โดยรับรองสำเนาถูกต้อง
- 1.3 แบบ รจ.1 ใบรับเงินในราชการศาลยุติธรรม ค่าประกันตัว (สีขาว)
- 2. กรณีหลักประกันอื่น เช่น สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร โฉนดที่ดิน เป็นต้น
-
- 2.1 แบบ อม.36 ใบรับเงินหรือสิ่งของที่คู่ความรับไปจากศาล
- 2.2 แบบ 65 ใบรับเอกสารและหลักฐาน (สีขาว)
ขั้นตอนในการยื่นขอคืนหลักประกัน
- 1. กรณีเงินสด/เช็ค
-
- 1.1 ผู้ประกันเขียนแบบแจ้งความประสงค์ในการรับเงินด้วยวิธีการโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ฯ พร้อมแนบสำเนาสมุดเงินฝากประจำธนาคารของผู้ประกัน โดยรับรองสำเนาถูกต้อง และใบรับเงินฯ ค่าประกันตัว หากใบรับเงินฯ สูญหาย ให้แจ้งความ และนำใบแจ้งความฉบับจริงมาใช้แทนใบรับเงินฯ ดังกล่าว
- 1.2 เจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบคำร้อง และเอกสารประกอบ แล้วพาผู้ประกันไปส่งที่ส่วนคลัง
- 1.3 ส่วนคลังดำเนินการคืนหลักประกันด้วยวิธีการโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคาร
- 2. กรณีหลักประกันอื่น
-
- 2.1 ผู้ประกันเขียนใบรับเงินหรือสิ่งของที่คู่ความรับไปจากศาล พร้อมแนบใบรับเอกสารฯ หากใบรับเอกสารฯ สูญหาย ให้แจ้งความ และนำใบแจ้งความฉบับจริงมาใช้แทนใบรับเอกสารฯ ดังกล่าว
- 2.2 เจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบคำร้อง และเอกสารประกอบ เสนอองค์คณะผู้พิพากษา พิจารณาสั่ง
- 2.3 เจ้าหน้าที่ศาลคืนหลักประกันให้ผู้ประกัน