ผู้ที่มีที่ดินริมตลิ่ง บางครั้งอาจโชคไม่ดีโดนกระแสน้ำกัดเซาะทำให้ที่ดินขาดหายไปบางส่วน หรือซ้ำร้ายถึงกับต้องย้ายบ้านหนี แต่ก็มีบางกรณีที่โชคดีอยู่ ๆ มีที่ดินงอกขึ้นมาทำให้มีที่ดินเพิ่มขึ้นหรือที่เรียกกันว่า ที่งอก ลองมาดูว่า ที่งอก คืออะไร แบบไหนถึงเรียกที่งอก และใครเป็นเจ้าของที่ดิน
ที่งอกคืออะไร
ที่งอกในประมวลกฎหมายที่ดินไม่ได้ให้ความหมายหรือนิยามไว้ การพิจารณาที่งอกจึงต้องพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ประกอบกับคำพิพากษาฎีกาที่วางแนวทางการพิจารณาไว้
ที่งอกริมตลิ่ง หมายถึง ที่ดินที่งอกออกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการที่สายน้ำพัดพาดินมาจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่ง
ที่ดินที่งอกมาจากที่ดินแปลงใด เจ้าของที่ดินนั้นก็เป็นเจ้าของที่ดินที่งอกนั้น ซึ่งเป็นหลักการของส่วนควบ จึงถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย และเมื่อเป็นการได้มาโดยผลของกฎหมายจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะฉะนั้นแม้ส่วนที่เป็นที่งอกจะยังไม่มีการออกโฉนดที่ดินก็มีกรรมสิทธิ์ในที่งอกนั้นอย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้จะต้องดูลักษณะของที่ดินด้วยว่า เป็นที่ดินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ถ้าเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง ที่งอกที่เกิดขึ้นนั้นผู้นั้นก็มีเพียงสิทธิครอบครอง
อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น โดยหลักของที่งอกริมตลิ่งจะต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและติดต่อเป็นผืนเดียวกัน แต่เจ้าของที่ดินจะมีกรรมสิทธิ์ในที่งอกได้ต้องเป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินแปลงใดเป็นที่มือเปล่า หากเกิดที่งอกออกมาเจ้าของที่แปลงนั้นก็จะมีแต่เพียงสิทธิครอบครองในที่งอกเท่านั้น
ดังนั้น หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมีโฉนด เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีกรรมสิทธิ์ในที่งอก ผู้อื่นจะแย่งการครอบครองที่ดินส่วนนี้ จะต้องครอบครองปรปักษ์เกินกว่า 10 ปีจึงได้กรรมสิทธิ์ หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมือเปล่า (สค.1, นส.3) เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง หากผู้อื่นแย่งการครอบครองและเจ้าของไม่ฟ้องร้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เจ้าของสิ้นสิทธิในที่งอกนั้น
ข้อสังเกตของที่งอก
1. ที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะพังไปหมดแล้วจนกลายเป็นทางน้ำ แต่ต่อมาที่ดินดังกล่าวเกิดที่งอกขึ้นมาใหม่ กรณีนี้ที่ดินที่เกิดมามิใช่ที่ดินของเจ้าของที่ดินเดิม แต่ต้องไปดูว่าที่ดินที่เกิดมาใหม่นั้นติดกับที่ดินของบุคคลใด ถ้าเข้าหลักที่งอก เจ้าของที่ดินนั้นก็เป็นเจ้าของที่งอกนั้น
สำหรับหลักการแบ่งว่าเมื่อที่ดินเกิดที่งอก เจ้าของที่ดินที่อยู่ติดแหล่งน้ำมีหลายราย หลักการแบ่งจะต้องดูจุดสุดท้ายของที่ดินที่เป็นประธานที่ติดต่อกับที่งอก แล้วลากเส้นตั้งฉากออกไป บริเวณที่งอกริมตลิ่งที่อยู่ในเส้นตั้งฉากของบุคคลใด บุคคลนั้นก็เป็นเจ้าของที่งอกนั้น
2. ผู้ที่ซื้อที่ดินที่มีที่งอกริมตลิ่ง ย่อมเป็นเจ้าของที่งอกนั้นโดยผลของมาตรา 1308 แม้ที่ดินนั้นจะออกโฉนดที่ดินในชื่อของผู้ขายก็ตาม ผู้ขายไม่มีอำนาจนำที่งอกนั้นขายต่อให้กับผู้อื่น
โฉนดที่ดินในส่วนที่ออกให้กับผู้ขอออกเดิม จึงเป็นการออกให้กับบุคคลซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดิน กรณีดังกล่าวนี้กรมที่ดินจะเพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นต่อไป
3. ที่ดินที่งอกจากที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน ถือว่าที่งอกนั้นเป็นที่ดินที่มีโฉนดที่ดินดัวย จึงเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ การซื้อขายที่ดินแม้จะซื้อขายเฉพาะส่วนที่งอกอย่างเดียว ก็ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง เมื่อที่งอกจากโฉนดที่ดิน
สรุปแบบเข้าใจง่ายลักษณะของที่งอกริมตลิ่ง
1. เป็นที่ดินที่งอกจากริมตลิ่ง ซึ่งฤดูน้ำตามปกติ น้ำท่วมไม่ถึง
2. ต้องเป็นที่งอกออกจากริมตลิ่งไปสู่กลางแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล หรือทะเลสาบ
3. ต้องเป็นการงอกโดยธรรมชาติ
4. ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์ประธานจะต้องติดกับที่งอกโดยจะต้องไม่มีสิ่งใดคั่นระหว่างริมตลิ่งกับที่ดินที่งอกออกไป กรณีที่เป็นที่งอกจากกลางแม่น้ำเข้ามาหาตลิ่ง ไม่ถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่ง รวมถึงการที่หนองน้ำสาธารณะตื้นเขิน ไม่ถือว่าเป็นที่งอกริมตลิ่ง เพราะไม่ใช่เรื่องที่งอกจากริมตลิ่งไปสู่กลางแม่น้ำ