บทความกฎหมายน่ารู้

โอนลอยรถยนต์ไม่มีสัญญาซื้อขาย เสี่ยงผิดกฎหมาย

ควรระวัง! โอนลอยรถยนต์ไม่มีสัญญาซื้อขาย เสี่ยงผิดกฎหมาย

รถยนต์ จักรยานยนต์ เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่หลายคนใช้งานในชีวิตประจำวัน อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ผู้เป็นเจ้าของอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในการซื้อ-ขายรถยนต์มือสองที่กำลังเป็นที่นิยม เนื่องจากมีราคาที่เข้าถึงง่ายกว่าเมื่อเทียบกับรถมือหนึ่งหรือรถป้ายแดง ซึ่งแน่นอนว่าในการซื้อขายรถยนต์ ต้องมีการทำสัญญาซื้อขายชัดเจนและมีลายเซ็นของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจเลือก “โอนลอยรถยนต์” เพราะเป็นวิธีที่สะดวกสบายกว่า

อย่างไรก็ตาม การโอนรถเปลี่ยนเจ้าของแบบโอนลอยนั้นมีความเสี่ยงที่ต้องคำนึงเอาไว้เสมอ ฉะนั้น มาสำรวจกันว่า การโอนลอยรถยนต์คืออะไร สัญญาโอนลอยรถมีรายละเอียดอย่างไร  และหากมีการกระทำผิดสัญญา จะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง

ทำความรู้จัก “โอนลอยรถ” คืออะไร?

เมื่อกล่าวถึงทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้อย่างรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซต์ การโอนกรรมสิทธิ์จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ ผู้ซื้อหรือผู้ขายไปจดทะเบียนผู้ครอบครองใหม่กับกรมการขนส่งทางบก

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกระบุว่า การโอนลอย คือ การที่เจ้าของรถได้ขายรถของตนแล้ว และทำการลงนามในเอกสารการโอนรถ และใบมอบอำนาจให้แก่ผู้ซื้อ โดยมิได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่กรมการขนส่งฯ พูดได้ว่า มีการตกลงซื้อ-ขายรถระหว่างสองฝ่าย แต่กรรมสิทธิ์ยังไม่ถูกเปลี่ยนไปชื่อของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ อาจมีเพียงการสัญญาปากเปล่า ยังไม่มีการกรอกชื่อผู้รับโอนใน “แบบคำขอโอน” อาจมีเพียงลายเซ็นของผู้ขาย (เจ้าของรถ) เท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้ไปทำการโอนตามขั้นตอนที่สำนักงานขนส่งฯ ซึ่งโดยส่วนมาก ผู้ซื้อจะเป็นฝ่ายดำเนินการขอโอนกรรมสิทธิ์กับกรมขนส่งทางบกด้วยตัวเองในภายหลัง

ข้อสังเกต การโอนลอยรถยนต์

  • แบบคำขอโอนมีเพียงชื่อและลายเซ็นของผู้โอน (ชื่อเจ้าของรถ)
  • ยังไม่มีชื่อผู้รับโอนในแบบคำขอ หรือมีแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินเรื่องการโอนชื่อผู้ครอบครองที่กรมขนส่ง
  • ใบคู่มือจดทะเบียน (เล่มรถ) ยังเป็นชื่อเจ้าของเดิม เนื่องจากยังไม่ได้โอนที่กรมขนส่ง

โดย สัญญาโอนลอยรถนั้นมีลักษณะคล้ายกับหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์ทั่วไป เพียงแต่จะเว้นไว้ในส่วนของชื่อและลายเซ็นผู้ซื้อ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • รายละเอียดการซื้อขาย เช่น วันเวลาสถานที่ซื้อขาย ชื่อผู้ซื้อ และชื่อผู้ขาย (กรอกในภายหลัง)
  • รายละเอียดรถยนต์ เช่น หมายเลขทะเบียน สี เลขเครื่องยนต์ และเลขตัวถัง
  • รูปแบบการชำระเงิน เช่น การวางมัดจำ การชำระเงินสด หรือการขอสินเชื่อกับไฟแนนซ์
  • ราคาตกลงซื้อขาย
  • รูปแบบการส่งมอบรถ
  • ลายมือชื่อของคู่สัญญา ซึ่งลายเซ็นของผู้ซื้อจะถูกเพิ่มเข้าไปในภายหลัง
  • เงื่อนไขการรับประกัน (ถ้ามี)

ข้อดีของการโอนลอยรถยนต์

การโอนลอยรถยนต์เป็นเสมือนการลัดขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์รถ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ เช่น

1. สะดวกรวดเร็ว หากซื้อขายผ่านคนกลาง

การโอนลอยเป็นวิธีที่สะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการขายรถต่อผ่านคนกลาง เช่น เต็นท์รถมือสอง หรือฝากขาย เพราะคนกลางไม่จำเป็นต้องเซ็นรับโอนหรือทำเรื่องโอนรถหลายครั้ง ก่อนนำรถไปขายให้กับผู้ซื้ออีกทอดหนึ่ง โดยเมื่อทำการขายได้แล้วจึงนำใบคำขอโอนที่มีลายเซ็นของผู้ขาย (เจ้าของเดิม) ไปให้ผู้ซื้อเซ็นในส่วนผู้รับโอนได้ในคราวเดียว ไม่ต้องเสียเวลาไปทำการโอนที่กรมขนส่งหลายรอบ ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายหลายต่อ

2. เจ้าของรถ ไม่จำเป็นต้องดำเนินเรื่องด้วยตนเอง

ในกรณีที่เป็นการซื้อ-ขายระหว่างกันโดยไม่อาศัยคนกลาง บางครั้งผู้ขายอาจไม่มีเวลาหรือว่างไม่ตรงกับผู้ซื้อ โดยการเซ็นเอกสารโอนลอยไว้ก่อน ผู้ซื้อสามารถไปดำเนินการกับกรมการขนส่งฯ ได้เอง ในวันเวลาที่ตนสะดวก ซึ่งผู้ขายก็ไม่จำเป็นต้องสละเวลาไปที่กรมการขนส่งฯ กับผู้ซื้อนั่นเอง

3. ผู้ขาย (เจ้าของรถ) ได้รับเงินก้อนในทันที

แน่นอนว่าในการขายรถยนต์ เจ้าของส่วนใหญ่ย่อมต้องการได้รับเงินในทันทีหรือเร็วที่สุด ซึ่งการโอนลอยเป็นการซื้อ-ขายรถมือสองที่ผู้ซื้อชำระเงินในทันที แล้วดำเนินเรื่องโอนรถในภายหลัง ฉะนั้นผู้ขายจะได้เงินก้อนตามที่ตกลงกันไว้ในทันที แต่ก็ขึ้นอยู่การตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย

ข้อควรระวังในการโอนลอยรถยนต์

ในเมื่อการโอนลอยรถยนต์ เป็นการกระทำที่ผู้ขาย “เซ็นโอนไปก่อน” ที่ถึงแม้จะสะดวกรวดเร็ว แต่หลายคนอาจสงสัยว่า การขายรถโอนลอยอันตรายไหม ซึ่งการโอนลอยนั้นมีความเสี่ยงแฝงหลายด้าน ที่ผู้ขายต้องพิจารณา อาทิ

1. ไม่ต่อภาษีรถยนต์ประจำปี

การต่อภาษีรถยนต์รายปีนั้นเป็นความรับผิดชอบที่เจ้าของรถไม่ควรละเลย แต่หากโอนลอยรถยนต์ไปแล้ว ผู้ซื้อไม่ดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ ผู้ขายหรือเจ้าของเดิมต้องเป็นผู้ชำระค่าปรับ เนื่องจากยังมีชื่อเป็นผู้ครอบครองตามเล่มทะเบียนอยู่

2. เสี่ยงต่อการโดนสวมรอย ใช้รถยนต์ผิดกฎหมาย

หากผู้ซื้อกระทำผิดสัญญา ไม่ดำเนินการโอนรถกับกรมขนส่ง แล้วมีการนำรถไปใช้กระทำผิดกฎจราจร หรือนำไปก่อเหตุอาชญากรรม เช่น ขับรถชนคนเสียชีวิต ขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย เป็นต้น โดยเมื่อเกิดการกระทำผิดดังกล่าว เจ้าของรถเดิมที่มีชื่อตามใบคู่มือจดทะเบียน ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น หรืออาจถูกดำเนินคดี เพราะโดยกฎหมาย ยังถือว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ที่ใช้กระทำผิดนั้นอยู่

3. รถยนต์ถูกนำไปขายต่ออย่างผิดกฎหมาย

เมื่อผู้ขายมอบแบบคำขอโอนและรับโอนพร้อมลายเซ็น อาจมีความเสี่ยงที่ผู้ซื้อหรือคนกลางจะลักลอบนำรถไปจำนำผิดกฎหมาย แล้วหากผู้ซื้อไม่มาไถ่คืน เจ้าของรถที่มีชื่อตามเล่มทะเบียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้แทน หรือในอีกกรณีรถยนต์อาจถูกนำไป “สวมทะเบียน” เพื่อขายต่อหรือกระทำกฎหมายอื่นๆ โดยมีระวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๒๖๘ ฐานปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท ซึ่งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของรถตามเล่มทะเบียนต้องรับผิดชอบร่วมด้วย

โอนลอยรถยนต์แล้วเกิดปัญหา ควรทำอย่างไรดี?

เมื่อเกิดปัญหาหลังโอนลอยรถยนต์อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นจนทำให้ผู้ขายเดือดร้อน มีความผิดทางแพ่งและอาญา เบื้องต้นผู้ขายสามารถอ้างหลักฐานการซื้อขาย เช่น หนังสือสัญญาซื้อขาย ประกอบกับใบเสร็จการโอนเงิน และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันว่ามีการซื้อขายเกิดขึ้นจริง และผู้ขายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของผู้ซื้อ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๘ ที่ระบุว่า “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน”  โดยในการดำเนินคดี จะมีการตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาว่า มีการตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายหรือไม่ ถ้าไม่ กรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ได้ แม้ยังไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ขาย

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น